top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนCS Team

เทคนิคการพัฒนาตนเอง ตามหลัก 4 Self




         ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเทคโนโลยี การสื่อสาร สภาพเศรษฐกิจ และข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ที่มีการส่งถ่ายถึงกันและกันเร็วขึ้น และจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนี้เองจึงเป็นเสมือนพลังผลักดันให้คนแต่ละคนต่างต้องตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลง อันทำให้เกิดการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องอยู่เสมอเพื่อให้ตนมีความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง

          ผู้ที่พัฒนาตนเองย่อมเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ได้รับความก้าวหน้าในสายอาชีพ ได้รับคำยกย่อง สรรเสริญมากกว่าผู้ที่ทำงานอยู่ไปวัน ๆ โดยไม่สนใจที่จะพัฒนาความรู้และความสามารถของตนเอง ชอบทำงานตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้างานเท่านั้น

          ดังนั้นหากคุณมีความอยาก และต้องการที่จะประสบผลสำเร็จในชีวิต คุณไม่ควรรอให้หัวหน้างาน องค์การ หรือผู้อื่นมาพัฒนาความรู้ ความสามารถของคุณเองในการทำงานเท่านั้น การเริ่มต้นที่จะพัฒนาตนเองโดยไม่พึ่งพาผู้อื่นเป็นสิ่งที่คุณควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง คุณต้องตระหนักอยู่เสมอว่า “ ชีวิตคุณ คุณเป็นผู้เลือกที่จะลิขิตหรือเลือกเส้นทางในการดำเนินชีวิตเอง ” คุณอย่าปล่อยให้ผู้อื่นมาเป็นผู้มีอิทธิพลและชี้นำการดำเนินชีวิตของตัวคุณ

การพัฒนาตนเองให้พบกับความสำเร็จในชีวิตนั้นไม่ยากเลยค่ะ ขึ้นอยู่กับความพร้อมและความมุ่งมั่นของตัวคุณเอง ทั้งนี้ดิฉันขอนำเสนอหลักปฏิบัติตนอย่างง่าย ๆ ที่สามารถทำได้ด้วยแนวคิดของ 4 Self ดังต่อไปนี้

1. Self Awareness


          Self ที่หนึ่งจะทำให้คุณเริ่มต้นค้นหาว่าส่วนลึก ๆ แล้วคุณต้องการอะไรกันแน่ เป็นการตระหนักในเป้าหมายที่คุณอยากจะมีและอยากจะเป็นในอนาคตข้างหน้า เช่น บางคนอยากมีความสุข บางคนอยากจะประสบความสำเร็จในการทำงาน บางคนอยากมีร้านเล็ก ๆ เป็นของตนเอง เป็นต้น และเมื่อคุณตระหนักรู้แล้วว่าเป้าหมายหรือสิ่งที่คุณต้องการจะไปนั้นคืออะไร คุณควรสำรวจตนเองลึกลงไปอีกว่าต้นเหตุที่จะทำให้ฝันหรือเป้าหมายของคุณเกิดขึ้นมาได้นั้นคืออะไร เช่น คุณอยากมีความสุข ..... แล้วความสุขของคุณจะเกิดขึ้นจากอะไร ? .... ความสุขอย่างหนึ่งนั่นก็คือ การเรียนต่อในระดับปริญญาเอก เป็นต้น และเมื่อคุณตระหนักรู้ว่าอะไรคือเหตุผลลึก ๆ ของเป้าหมายที่กำหนดขึ้นแล้ว ขั้นตอนถัดไปก็คือคุณควรคิดไตร่ตรองดูว่าจะทำอย่างไรให้ฝันนั้นเป็นจริง เช่น หากคุณคิดว่าการเรียนต่อปริญญาเอก อันนำมาซึ่งความภาคภูมิใจในส่วนลึก ๆ ของคุณเองและคนรอบข้าง คุณก็ควรตระหนักรู้ตนเองว่าคุณมีความพร้อมในเรื่องเวลา และงบประมาณมากน้อยแค่ไหน.....หากคุณคิดว่าคุณพร้อมแล้ว คุณก็ควรเริ่มคิดต่อไปว่าจะต้องทำอย่างไรบ้างในการเรียนต่อระดับปริญญาเอกให้ได้ นั่นก็คือการตรวจสอบมหาวิทยาลัยที่เหมาะสมและติดต่อมหาวิทยาลัยเพื่อเข้ารับการทดสอบต่อไป

2. Self Discipline


Self ตัวนี้จะบอกคุณว่าหนทางของความสำเร็จในเป้าหมายที่กำหนดขึ้น ไม่ใช่เป็นหนทางของถนนเรียบ แต่เป็นหนทางของถนนที่ขรุขระซึ่งคุณเองจะต้องพบเจอกับปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ เหมือนกับการขึ้นภูเขาที่คุณจะต้องค่อย ๆ ไต่ขึ้นไปเพื่อให้ไปถึงยอดเขา และการขึ้นไปสู่ยอดเขาให้ได้นั้น คุณอาจจะต้องพบเจอกับหน้าผาที่สูงชัน ก้อนหินที่ขวางทางคุณอยู่ และเมื่อคุณมีเป้าหมายที่จะขึ้นไปสู่ยอดเขานั้นให้ได้ คุณจะต้องมีวินัยในตนเองว่าคุณจะต้องทำให้ได้เพื่อไปสู่ชัยชนะที่วาดฝันไว้ไม่ว่าจะเจอกับปัญหาและอุปสรรคใด ๆ ก็ตาม ซึ่ง Self ตัวนี้จะเป็นพลังผลักดันให้คุณสร้างวินัยในการปฏิบัติตนให้ไปสู่ความฝันที่กำหนดขึ้น ไม่ย่อท้อหรือหวั่นไหวไปซะก่อนกับปัญหาที่เกิดขึ้น ด้วยการเปลี่ยนเป้าหมายของตนเอง เช่น หากคุณได้รับการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อปริญญาเอกแล้วล่ะก็ แน่นอนว่าคุณจะต้องเจอะเจอกับปัญหาสารพัด ไม่ว่าจะเป็นเวลาที่ไม่อาจแบ่งสรรให้กับการเรียนได้ ปัญหาเรื่องแฟนหรือคนในครอบครัวไม่ชอบใจที่คุณไม่ให้เวลากับพวกเขา ปัญหางบประมาณมีจำกัด ปัญหาเหล่านี่จะส่งผลให้คุณคิดไปเองว่าตนเรียนไม่ไหวอย่างแน่นอน นั่นก็คือคุณพยายามหาเหตุผลสนับสนุนว่าคุณไม่สามารถเรียนต่อในระดับปริญญาเอกได้ เป็นต้น แต่หากคุณมี Self แห่งวินัยในตนเองแล้วล่ะก็ Self ตัวนี้จะเป็นพลังผลักดันให้คุณสร้างวินัยในการปฏิบัติตนให้ฟันฝ่าปัญหาที่เกิดขึ้น ด้วยการจัดสรรเวลาให้เหมาะสม และการบังคับตนเองให้มีวินัยพอที่จะปฏิบัติตนตามเวลาที่กำหนดขึ้น

3. Self Improvement


          Self ที่สามนี้จะเป็นเสมือนตัวจุดประกายให้คุณมีความรู้ และความสามารถในการสานฝันที่กำหนดขึ้นให้เป็นจริงได้ Self ตัวนี้จะทำให้คุณเริ่มถามตนเองว่าคุณจะต้องพัฒนาตนเองในเรื่องใดบ้างเพื่อให้คุณมีศักยภาพเพียงพอที่จะทำให้เป้าหมายของตนเองบรรลุผลสำเร็จ หากคุณมีหัวใจพร้อมที่จะพัฒนาแล้วนั้น ย่อมจะทำให้คุณมีแรงอึด มีพลังพอที่จะปรับปรุงตนเองอย่างต่อเนื่องอยู่เสมอ ไม่คิดย่อท้อหรือหมดหวังที่จะเห็นผลสำเร็จของความฝันนั้น ๆ ของคุณเอง เช่น หากคุณมีโอกาสเข้าเรียนต่อในระดับปริญญาเอก ซึ่งคุณพบว่ามีความรู้ในวิชาที่เรียนไม่เท่ากับเพื่อน ๆ คนอื่นแล้วล่ะก็ ความรู้สึกที่จะเกิดขึ้นกับคุณต่อไปนั้นมีอยู่สองด้าน นั่นก็คือ ด้านหนึ่งเป็นความรู้สึกทางลบคือ คุณจะเริ่มรู้สึกเบื่อ เซ็ง ไม่ชอบในสิ่งที่คุณเองได้เลือกไปแล้ว และความรู้สึกอีกด้านหนึ่งเป็นความรู้สึกในทางบวก ซึ่งคุณเองต้องพยายามบอกตนเองเสมอว่าคุณจะต้องพัฒนาความรู้ที่ยังขาดหายไปให้มีมากขึ้นให้จงได้ ความรู้สึกในทางบวกนี้จะเป็นพลังพลักดันให้คุณหาหนทางและวิธีการต่าง ๆ นา ๆ ที่จะปรับปรุงตนเองให้มีความรู้ และความสามารถมากยิ่งขึ้นต่อไป

4. Self Evaluation


          Self ตัวนี้จะทำให้คุณเริ่มประเมินผลการปฏิบัติตนของตัวคุณว่าประสบความสำเร็จไปมากน้อยแค่ไหนบ้าง ซึ่งคุณเองจะต้องประเมินผลตนเองเป็นระยะอย่างต่อเนื่องอยู่เสมอ ทั้งนี้คำถามหลัก ๆ ที่คุณจะต้องประเมินตนเอง นั่นก็คือ คุณยังสามารถทำเป้าหมายที่กำหนดขึ้นให้เป็นจริงได้นั้นตามเงื่อนไขที่ถูกกำหนดขึ้นไว้แล้วได้หรือไม่ .......คุณมีความรู้และความสามารถเพียงพอหรือยัง......คุณ จะต้องทำอย่างไรบ้างในการทำให้คุณมีความรู้และความสามารถเพิ่มมากขึ้นในอันที่จะทำให้เป้าหมายของคุณบรรลุผลสำเร็จ.....ทั้งนี้การประเมินตนเองนั้น คุณควรกำหนดขึ้นเป็นระยะ ๆ เช่น ทุกไตรมาส ทุกครึ่งปี หรือทุกปี เป็นต้น เช่น คุณสามารถประเมินความรู้ของคุณว่าเมื่อได้เรียนปริญญาเอกแล้ว คุณรู้อะไรเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ ความรู้อะไรบ้างที่คุณอยากจะรู้และยังไม่รู้ และคุณจะต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้คุณมีความรู้เพิ่มขึ้นในสิ่งที่ตนเองยังไม่รู้ เป็นต้น

          เห็นไหมค่ะว่า การพัฒนาตนเองให้ประสบผลสำเร็จนั้นไม่ยาก ขอเพียงแต่ว่าคุณจะต้องมีความมุ่งมั่นและตั้งใจจริงที่จะบริหารตนเอง ( Self) ด้วยการตระหนักรู้ในความคาดหวังของตนเอง การสร้างวินัยในการปฏิบัติตนตามเงื่อนไขของเวลาที่กำหนด การปรับปรุงความรู้ความสามารถของตนเองอยู่เสมอ และสุดท้ายนั่นก็คือการประเมินผลสำเร็จในเป้าหมายที่ตัวคุณเป็นผู้ลิขิตขึ้นเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง


ที่มา :โดยอาภรณ์ ภู่วิทยพันธุ์

http://www.hrtothai.com

ดู 1,072 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comentários


bottom of page